
อ่านจบวันนี้หมาดๆ เลย
แม้เป็นหนังสือเล่มบางๆ แต่ใช้พลังในการอ่านมากพอสมควรเลย
คุณหมอ Viktor E. Frankl เป็นคุณหมอชาวยิวที่มีชีวิตรอดจากค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซี
จากจุดที่มนุษย์ตกต่ำที่สุด มนุษย์ที่ไม่มองมนุษย์ด้วยกันเป็นมนุษย์ กับมนุษย์ที่ถูกมองว่ามีค่าน้อยกว่าสิ่งของ
รอดพ้นกลับคืนมาได้ ทั้งที่อีกหลายชีวิตนับไม่ถ้วนไม่สามารถ
ในเรื่องราวนี้ย่อมมีบทเรียนความหมายของการมีชีวิต สำหรับมนุษย์ที่สามารถรอดพ้นจากจุดเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
คุณหมอได้จัดการกับความคิดของตัวเองอย่างไร จึงสามารถรอดพ้นมาได้วันต่อวัน ทั้งระหว่างอยู่ในสภาพเลวร้ายในค่าย และอยู่ได้กับผลกระทบต่อมาในภายหลังหลังจากได้รับอิสรภาพออกมา
นี่จึงเป็นองค์ความเข้าใจสุดยอดอีกหนึ่งของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ที่ควรค่าถึงขั้นจำเป็นจะต้องหยิบเอาหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพื่อเข้าใจ
สารภาพว่า ตอนที่หยิบซื้อหนังสือเล่มนี้กลับบ้าน ไม่ได้รู้รายละเอียดเลยว่าเป็นหนังสืออะไรใครเขียน รู้แต่เพียงไม่กี่ประโยคบนปกหน้าเท่านั้น
เพียงทำตามสัญชาติญาณคนอ่านหนังสือว่า นานๆ ทีควรจะหยิบหนังสือแบบที่ไม่ต้องรู้รายละเอียดกลับบ้านมาอ่านเสียบ้าง
เลยทำให้เราได้พบกับเสาระการมีชีวิตของมนุษยชาติในหนังสือเล่มนี้
เอาเข้าจริง เมื่อลองคิดให้ดีระหว่างการอ่านแต่ละประโยค
เนื้อหาทั้งหลายนี้กลับมีความเชื่อมโยงกับบางประเด็นในศาสนาพุทธด้วย
ความจริงแท้ของโลกนี้ อาจจะไม่ได้ซับซ้อนอะไร เหมือนที่เราเคยทึกทักไว้
หากแต่อาจเรียบง่ายถึงที่สุด
เนื้อแท้ของการมีชีวิตก็อาจจะไม่ได้ซับซ้อนอะไร
ที่ซับซ้อนกลับเป็นแค่เปลือก ที่อาจไม่ได้มีค่าพอให้ต้องสนใจด้วยซ้ำ
เมื่อเข้าใจ เราจะได้พบกับคุณค่าของการมีชีวิตอยู่